ดูแลสุขภาพใจกันหน่อย Created by doahost on 1/21/2013 10:30:24 PM
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำของ "รักลูก" เป็นคนรักสุขภาพ ห่วงใยสุขภาพตนเองและคนรอบข้างกันทุกคน แต่ก็ไม่มั่นใจว่าการดูแลสุขภาพของท่านนั้น ได้ดูแลและห่วงใย "สุขภาพใจ" กันบ้างหรือเปล่า?
ที่สงสัยแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อใจกันนะครับ แต่เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ "สุขภาพใจ" กันเท่าใดนัก แถมเวลามีใครมาแนะนำว่า อาการอย่างนี้ควรจะไปพบจิตแพทย์ก็พาลโกรธคนแนะนำ คิดว่าเขาหาว่าตัวเองบ้าไปเสียอีก
"สุขภาพใจ" ของเรานั้นสำคัญไม่แพ้ "สุขภาพกาย" ครับ หากสุขภาพใจไม่ดีก็สามารถทำให้สุขภาพกายแย่ไปด้วย คนโบราณเขาจะให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน เพราะเชื่อว่า "กายที่สมบูรณ์จะคู่กับใจที่สมบูรณ์" ครับ
เรามาสำรวจ "สุขภาพใจ" กันดูสักหน่อย ดีไหมครับ...
คุณ... รู้สึก
ปวดศีรษะบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ หรือเปล่า? ปวดไม่มากพอทำให้รำคาญ
แต่มันเหมือนมีอะไรมารัดอยู่รอบศีรษะ บางทีก็ร้าวไปบริเวณท้ายทอย หรือต้นคอ
คุณ... ยังทานอาหารได้อร่อยดีอยู่ไหมครับ เคยไหมเมื่อถึงเวลาอาหาร แล้วรู้สึกไม่อยากทานอะไรเลย แถมรู้สึกลำบากใจว่าต้องทานอีกแล้วหรือนี่
คุณ... นอน
หลับดีรึเปล่า ประเภทหลับยาก หรือบางทีก็หลับง่าย แต่พอดึกๆ
คนอื่นเขาหลับสนิท คุณกลับตื่นขึ้นมาแล้วนอนหลับต่อไม่ได้อยู่คนเดียว
คุณ... เคย
มีความรู้สึกเบื่อบ้างไหม ตื่นเช้าขึ้นมาแทบไม่อยากลุกขึ้นมาสู้กับโลกใบนี้
พอบ่ายๆ หลังจากฝืนใจสู้มาสักพัก ความรู้สึกที่ว่านี้ก็ค่อยๆ ดีขึ้น
แต่เมื่อรุ่งขึ้นก็กลับเป็นแบบเดิมอีก
คุณ... เคย
รู้สึกกลัว หวาดหวั่นลึกๆ บ้างหรือไม่ กลัวเป็นโน่นนี่ กลัวทำงานไม่สำเร็จ
กลัวไม่ปลอดภัย กลัว กลัว และ กลัว... จนพาลให้รู้สึกเบื่อๆ เศร้าๆ
ทำนบน้ำตาพังง่ายเหลือเกิน ใครพูดอะไรน้ำตาก็จะไหลอยู่เรื่อย
คุณ... ยังมีความรู้สึกทางเพศปกติอยู่หรือเปล่า
ถ้าสำรวจแล้ว คุณมีบางข้อหรือหลายข้อที่ผมตั้งคำถามไว้ "สุขภาพใจ" ของคุณเริ่มจะไม่สมบูรณ์แล้วครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณบ้านะ มันเป็นสัญญาณบางอย่างเพื่อบ่งบอกว่า "ใจ" ของคุณเริ่มทำงานบกพร่อง
ดังนั้น ถึงเวลาที่คุณต้องใส่ใจและต้องทำอะไรบางอย่างกับใจของคุณแล้วล่ะ
ลองทำแบบนี้ดูนะครับ...
1. หาสาเหตุว่าจากอะไร
วิธีการคือ ลองนึกดูว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรมากที่สุด
โดยเริ่มจากตอนที่เริ่มมีปัญหา
มีเหตุการณ์อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราบ้าง
แล้วลองพิจารณาว่าเพราะอะไร เหตุการณ์ที่ว่านั้นมันมีความหมายกับเราอย่างไร
มันคุกคามเรา ทำให้เสียหน้า ทำให้ด้อยค่า ทำให้หมดกำลังใจ
หรือทำให้หวั่นเกรงกับอนาคต
หากได้คำตอบก็ลองใคร่ครวญใหม่อีกครั้งว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ
คำตอบที่ได้ใหม่นี้ บางครั้งมันช่วยทำให้ความไม่สบายต่างๆ
ที่เกิดขึ้นหายไปได้ครับ
2. หาใครสักคนที่ไว้ใจได้มากที่สุด
เล่าเรื่องทั้งหมดให้เขาฟัง เขาจะให้คำแนะนำอย่างไร เราจะพบทางออกหรือไม่
อย่าไปใส่ใจครับ
เพราะแค่เราได้พูดเรื่องคับอกระบายออกมาจากใจนั่นก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นแล้ว
ข้อสำคัญ คุณต้องมั่นใจว่า เขาจะรับฟังคุณ
และไม่เอาเรื่องของคุณไปโพนทะนาต่อครับ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และต้องทำให้ได้ อย่างที่บอกตอนต้นว่า
‘กายที่สมบูรณ์คู่กับใจที่สมบูรณ์’ นั้นเป็นเรื่องจริง...
ใจที่ไม่ดีสามารถแก้ได้ด้วยการทำกายให้ดีครับ
4. ทบทวนการใช้ชีวิตในการทำงาน
บ่อยครั้งปัญหาที่ผมถามขึ้นเกิดจากการที่คนเราทำงานโดยไม่นึกถึงตัวเอง
โหมกับงานโดยไม่ใส่ใจกับสุขภาพกายและใจ คิดแต่ว่า... งานต้องเสร็จให้ได้
จะดึก จะล้ายังไงต้องทำให้ได้ การทำงานแบบนี้ทั้งกายและใจจะแย่แน่ๆ
เพราะถ้าสมองล้า ร่างกายล้าแล้วล่ะก็
คุณไม่มีทางผลิตงานที่ดีออกมาได้หรอกครับ
หยุดพักเพื่อให้ทุกอย่างฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ อาจพักผ่อนนอนหลับสักตื่น
แล้วคุณจะพบว่า คุณสามารถกลับมาทำงานได้ใหม่อีกรอบอย่างมีประสิทธิภาพ
แถมไม่มีโรคจากความเครียดจำพวกแผลในกระเพาะอาหาร
ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นอีกด้วย
5. จัดตารางเวลาของชีวิต ของการทำงาน
ชีวิตส่วนตัว และการพักผ่อน
แล้วควบคุมตัวเองให้เป็นตามตารางเวลาที่ทำขึ้นให้ได้
และตารางเวลาที่ว่านี้จะต้องเป็นตารางประจำวันครับ ไม่ใช่ตารางประจำสัปดาห์
ตารางเดือน หรือตารางปี ร่างกายมนุษย์มีนาฬิกาภายในที่จะทำงานครบรอบทุก 24
ชม. คือตื่นเพื่อทำภารกิจประมาณ 16-18 ชม. หลับพักผ่อนประมาณ 6-8 ชม.
ถ้าเราฝืนนาฬิกาธรรมชาติในร่างกาย วันนี้ระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะรวน
6. หากิจกรรมที่เป็นงานอดิเรก
หรือกิจกรรมที่ตนเองสนใจมาทำสัก 2-3 อย่าง เอาไว้เวลาเหงา เบื่อ
หรือเครียดจัดจะได้มีอะไรทำ หลายคนไม่สนใจกิจกรรมอื่นใดนอกจากทำงานเลย
พอร่างกายและใจล้าเลยไม่รู้จะหยิบอะไรมาทำ ครั้นอยู่เฉยๆ ก็ยิ่งหนัก
พอหาทางออกไม่ได้ก็แก้เครียดโดยการหยิบงานมาทำก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
หากิจกรรมสนุกๆ ไว้ทำครับ เล่นดนตรี กีฬา อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ ทำสวน
ฟังเพลง ฯลฯ
7. ฝึกผ่อนคลายด้วยวิธีการที่ตัวเองชอบ
ที่ผมบอกแบบนี้เพราะกิจกรรมผ่อนคลายมันมีหลายประเภท บางคนชอบนั่งสมาธิ
รำไท้เก๊ก ฝึกควบคุมกล้ามเนื้อ ฯลฯ ลองหาวิธีที่ตัวเองชอบและถนัดมาไว้ใช้
เมื่อตึงเครียดขึ้นมาก็เอากิจกรรมที่ว่านี้มาช่วยผ่อนคลายตัวเอง
8. ปรึกษาจิตแพทย์
ถ้าทั้งหมดยังไม่สามารถทำให้คุณดีขึ้นจากปัญหาที่ผมได้ตั้งประเด็นไว้แต่แรก
คุณคงต้องพบจิตแพทย์แล้วล่ะ อย่าไปอายว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องเสียหาย
เพราะการเจ็บป่วยทางใจก็ไม่ต่างอะไรจากป่วยทางกาย
ทุกคนมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้
และสังคมทุกวันนี้มันวุ่นวายสับสนมากขึ้นทุกที ผู้คนเจ็บป่วยทางใจมากขึ้น
จึงไม่แปลกที่เราก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นได้เช่นกันครับ
อย่าง
ไรก็ตาม ผมอยากให้คุณหมั่นตรวจสุขภาพกายและใจอยู่เสมอครับ
ว่าตอนนี้ยังดีอยู่หรือไม่ แม้ว่าจะดีอยู่ มาตรการ 8
ข้อที่ผมเสนอไว้ก็อยากให้คุณผู้อ่านเอาไปปฏิบัติเลย
ซึ่งจะช่วยป้องกันเราจากปัญหาสุขภาพใจได้ดีทีเดียวครับ...